top of page
Search
กล้าไม้

การเตรียมเมล็ดไม้

Updated: May 14, 2020


เมื่อได้เมล็ดไม้ที่มีคุณภาพตามต้องการแล้ว เพื่อให้การเพาะง่ายและอัตราการงอกสูงและเร็ว เราควรจัดกลุ่มเมล็ดให้ง่ายในการจัดการเมล็ดก่อนเพาะ

ในหลักสูตรนักเรียนปลูกป่านี้ เน้นเรื่องความแข็งแรงของต้นกล้า และความปลอดภัยของคนเพาะ คนปลูก และสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการเพาะ รวมถึงไม่ปฎิบัติต่อเมล็ดที่เกินความจำเป็น การค่อยๆ งอกตามธรรมชาติ จะกระตุ้นให้ต้นกล้าแข็งแรง เป็นกล้าคุณภาพต่อไป

 

การแบ่งกลุ่มเมล็ดจากประสบการณ์ของผมแบ่ง ออกเป็น 15 ประเภทดั

  • 1. ประเภทที่เมล็ดแข็งมาก หยิบจับได้สะดวก พวกนี้จะมีเมล็ดแข็ง มากไม่สามารถหักด้วยมือเปล่าได้ และมีขนาดใหญ่พอที่จะหยิบจับได้ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.4 ซม.เป็นต้นไป เมล็ดประเภทนี้ก่อนเพาะจะต้องทำแผล ด้วยเครื่องเจียร ตะไบ กรรไกรตัดกิ่ง กรรไกรตัดเล็บ แล้วแต่กรณี จากนั้นจึงแช่น้ำ 1 คืนก่อนนำไปเพาะต่อ เช่น มะค่าโมง มะค่าแต้ หลุมพอ เหรียง หางนกยูงฝรั่ง คูณ กัลปพฤกษ์ จามจุรีกาฬพฤกษ์ เป็นต้น

  • 2. ประเภทที่เมล็ดแข็งมาก หยิบจับได้ยาก พวกนี้แข็งมาก แต่หยิบจับไม่สะดวกไม่สามารถทำแผลได้ เราจึงต้องใช้ความร้อนในการทำให้น้ำเข้าสู่เมล็ดได้ โดยการต้มน้ำพอเดือดครั้งแรก (80องศา) ยกลง แล้วเทเมล็ดลงแช่ต่อ 1 คืน จึงนำไปเพาะในวัสดุเพาะต่อไป หมายเหตุ กลุ่มที่ 1 หากไม่สะดวกทำแผลก็ให้จัดอยุ่ในกลุ่มนี้ เช่น กันเกรา พะยูง คาง กางขี้มอด คูณ กัลปพฤกษ์ อะราง นนทรี เป็นต้น

  • 3. ประเภทที่เมล็ดมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก มีลักษณะเป็น กะลา เนื้อไม้ห่อหุ้มเมล็ด พวกนี้เมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งๆ ลักษณะเป็นกะลาหรือเนื้อไม้หุ้มเมล็ดอีกที ไม่สามารถทุบ หรือเอาเมล็ดออกมายาก พวกนี้มักจะแก่ช่วงปลายฝนและในหน้าหนาว และมักจะมีระยะพักตัว เราจึงควรเก็บเมล็ดไว้เพาะเมื่อพ้นหนาวของอีกปี และต้องใช้ความชื้นสัมพัทธ์สูงมาก พวกนี้จะงอกในช่วงฝนซุก ที่อากาศอบอ้าว หากเราต้องการให้งอกก่อนช่วงนั้น เราจะต้องเพาะช่วงพ้นหนาวแล้วใช้พลาสติกคลุมเพื่อให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์ หากไม่รีบร้อนอาจจะจิ้มลงถุงชำเลยก็ได้หากชนิดนั้นมีอัตราการงอกสูง โดยก่อนจิ้มให้เอามีดสับสำหรับชนิดที่เป็นเนื้อไม้ แล้วจึงแช่น้ำ 3 คืน ส่วนที่เป็นกะลาก็แช่น้ำอย่างเดียว 2-3 คืน ไม่แนะนำให้แกะเอาเมล็ดออกมา เพื่อใช้ประโยชน์จากกะลาแข็งๆ นี้ ในการป้องกันโรคและเชื้อราต่างๆ ให้กับเมล็ด ก่อนขบวนการงอกสมบูรณ์ เช่น มะกอกป่า สัก มะกอกเกลื้อน มะมือ พระเจ้าห้าพระองค์ มะกอกน้ำ กระบก เป็นต้น

  • 4. ประเภทที่เมล็ดมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งปานกลาง เปลือกหุ้มมีลักษณะเป็น กะลา หรือผลเป็นเนื้อไม้ หุ้มเมล็ด บางชนิดอาจมีปีก พวกนี้เราสามารถทุบหรือผ่าเปลือกหุ้มเมล็ดได้ บางชนิดเอาเมล็ดออกมาได้ แต่ไม่ควรทำเพราะเปลือกหุ้มเมล็ด มีหน้าที่ป้องกันโรคและแมลง จึงไม่ควรปฏิบัติใดๆ ที่มากกว่าการให้ความชื้นเข้าสู่เมล็ด โดยชนิดที่เป็นกะลาก็ให้แช่น้ำ 1 คืน ส่วนชนิดที่ผลเป็นเนื้อไม้และมีปีก ก็ให้ตัดปีกและตัดหัวท้ายผลเพื่อลดพื้นที่และเป็นช่องทางให้ความชื้นเข้าสู่เมล็ด เช่น รกฟ้า สมอไทย สมอภิเพก สกุณี แหนนา ธนนไชย มะม่วงหัวแมงวัน เป็นต้น

  • 5. ประเภทผลมีเนื้อนุ่ม เมล็ดมีเปลือกหุ้มเมล็ดบางๆ พวกนี้ มักจะแก่ในช่วงที่มีฝนถึงกลางฤดูฝน เนื้อผลจะนุ่ม เมื่อสุกงอมจะเละ เปลือกหุ้มเมล็ดจะเป็นเยื่อบางๆ หากเก็บมาแต่ยังไม่เพาะให้เก็บผลไว้ในร่ม เนื้อผลนุ่มๆ นั้นจะช่วยรักษาสภาพเมล็ด เมื่อจะเพาะจึงล้างเนื้อนุ่มๆ นั้นออก แล้วผึ่งลม ห้ามตากแดด เด็ดขาด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวที่ห้ามนำเมล็ดตากแดด และควรเพาะเมล็ดให้หมดภายในฤดูนั้นๆ เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ ลำไย ทุเรียน มะม่วง ขนุน มะหาด ฝรั่ง หว้า เฉียงพร้านางแอ พิกุล มะเกลือ กุ่มน้ำ เป็นต้น

  • 6. ประเภทที่เมล็ดหรือผลมีปีก และส่วนของเมล็ดมีเปลือกหุ้มบางๆ กลุ่มนี้ผลมักจะเป็นฝัก หรือผลเป็นปีหุ้มเมล็ด และจะแก่ก่อนที่พายุฝนจะมาเล็กน้อย การเก็บเมล็ดพวกนี้ ควรเก็บก่อนที่ฝักจะแตก หรือเก็บในช่วงที่ฝักเริ่มเปลี่ยนสี มีความแก่ประมาณ 90% เนื่องจากพวกนี้ใช้ลมและฝนในการกระจายพันธุ์ หากเมล็ดได้รับความชื้นเพียงเล็กน้อย ก็จะเริ่มการงอกทันที เราจึงต้องเก็บเมล็ดก่อนฝนจะมา เช่น เพกา ปีบ แคนา แคหางค่าง แครกฟ้า ตะแบก เสลา อุโลก เป็นต้น

  • 7. ประเภทที่เมล็ดมีปุยนุ่นหุ้มหรือติดเมล็ด กลุ่มนี้ผลมักจะเป็นฝักและแก่ก่อนที่พายุฝนจะมาเล็กน้อย การเก็บเมล็ดพวกนี้ ควรเก็บในช่วงที่ฝักเปลี่ยนสีหรือเหี่ยว เพื่อให้ง่ายในการเอาเมล็ดออกจากฝักโดยปุยหรือนุ่นไม่สร้างความรำคาญเวลาแกะ มีความแก่ประมาณ 80% เนื่องจากพวกนี้ใช้ลมและฝนในการกระจายพันธุ์ หากเมล็ดได้รับความชื้นเพียงเล็กน้อย ก็จะเริ่มการงอก หากความชื้นหมดก็จะเสีย โดยที่เราอาจจะดูไม่ออก เช่น นุ่น งิ้วป่าดอกแดง งิ้วป่าดอกขาว โมกมัน โมกหลวง สลิด เป็นต้น

  • 8. ประเภทที่เมล็ดขนาดใหญ่ มีความแข็งปานกลาง พวกนี้เราสามารถจิ้มลงถุงชำได้เลย เมล็ดสามารถทนต่อความเค็มของธาตุอาหาร และอัตราการงอกค่อนข้างสูงโดยการจิ้มด้านขั้วผลลงกลางถุงลึกลงไป 2/3 ของเมล็ด เช่น แดง ใบไม้สีทอง ทองกราว สาธร กระพี้จั่น ชงโค เป็นต้น

  • 9. ประเภทที่เมล็ดขนาดเล็ก มีความแข็งปานกลาง พวกนี้เมล็ดเล็ก หยิบจับได้ไม่สะดวกนัก มีความแข็งปานกลาง เราสามารถตากแดดได้ถึงแม้เนื้อผลจะเป็นแบบเนื้อนุ่มก็ตาม ส่วนมากคนไทยจะคุ้นเคยกับเมล็ดกลุ่มนี้ พวกนี้มักจะงอกทันทีเมื่อได้รับความชื้น ให้แช่น้ำ 1 คืนก่อนนำไปเพาะ เช่น ข้าว ถั่ว ฟัก แฟง แตงโม ไผ่ หญ้าเพ็ก เก็ดแดง กระพี้เขาควาย เป็นต้น

  • 10. ประเภทที่เมล็ดเป็นผงฝุ่น ความแข็งปานกลาง พวกนี้เล็กมากจนเป็นผงฝุ่น ผลหรือฝัก มักเป็นแคปซูล เมล็ดจะงอกทันทีที่ได้รับความชื้น เราจึงควรเก็บเมล็ดก่อนที่พายุฝนจะมา การเพาะก็แค่โรยเมล็ดลงในวัสดุแล้วรดน้ำเมล็ดจะแทรกเข้าไปในวัสดุเพาะเอง เช่น ขว้าว กระทุ่มบก กระทุ่มโคก ยาสูบ เป็นต้น

  • 11. ประเภทกลีบเลี้ยงพัฒนาเป็นปีก พวกนี้ใช้ลมพายุในการกระจายพันธุ์ เมล็ดเสียเร็วมาก เราต้องเก็บบนต้นเมื่อปีกเริ่มแห้ง หรือเก็บทันทีที่ร่วง โดยสังเกตจากวันที่ มีพายุลมฝนแรงๆ เช่น ยางนา ตะเคียนทอง เต็ง รัง พลวง พะยอม กระบาก เหียง และวงศ์ยางนาอื่นๆ รักใหญ่ พาราซันโตส เป็นต้น

  • 12. ประเภทสกุลไทร พวกนี้เมล็ดงอกดีแต่เมื่อเป็นต้นกล้าแล้วจะมีเชื้อรารบกวนมาก และยังปล่อยสารกำจัดกันเอง เราจึงต้องเพาะในวัสดุพิเศษ ที่ได้ผลดีก็คือ ดินลูกรัง และทรายกรวดโดยหว่านเมล็ด หรือละลายผลสดๆ ในน้ำแล้วราดลงไปในวัสดุดังกล่าว ไทร ไกร กร่าง มะเดื่อโพธิ์ เป็นต้น

  • 13. ประเภทเพาะลืม พวกนี้จะงอกในอีกฤดูฝนถัดไป แต่หากไม่เพาะในฤดูกาลนั้น เมล็ดจะเสีย ไม่ว่าลักษณะผลและเมล็ดจะเป็นอย่างไร พวกนี้มีสายพันธุกรรมร่วมกับไม่ในเขตหนาว เขาจึงต้องมีระยะพักตัว เมื่อพ้นหนาวแล้วจึงทยอยงอก พวกนี้ไม่มีอะไรให้พิจารณา จะต้องมีประสบการณ์ในการเพาะเป็นต้นๆ เท่านั้นจึงจะรู้ว่าเป็นพวกเพาะลืม พบในวงศ์กระดังงาบางชนิด เช่น พีพวน หมากคายข้าว วงศ์พิกุล ได้แก่ หมากเดือยไก่ ตานเสี้ยน และยังมีพวก ตะขบป่า มะเม่าป่า ตะคร้อ เป็นต้น

  • 14. ประเภท ปาล์มที่มีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก ปาล์มเหล่านี้ มีเมล็ดแข็งมาก จึงต้องเปิดช่องให้น้ำเข้าสู้เมล็ดได้ง่ายขึ้น เรียกว่าการเปิดตา ในตำแหน่งขั้วเมล็ดที่รากจะแทงออกมา เช่น หวายต่างๆ ลาน ค้อ เต่าร้าง เป็นต้น

  • 15. ประเภท ผลพัฒนาเป็นต้นอ่อน ตั้งแต่อยู่บนต้น ส่วนมากจะพบในป่าชายเลน ป่าพรุ เมื่อร่วงลงมาสามารถเป็นต้นอ่อนได้เลย โกงกาง พังกาหัวสุ่ม ถั่วขาว เป็นต้น

ที่มา :

98 views0 comments

Comments


bottom of page